ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ



จาก “เพชบุระ เมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ” ในอดีตกาลสู่ “ เพชรบูรณ์ ดินแดนแห่งความสุขของคนอยู่และผู้มาเยือน “ ในปัจจุบัน แผ่นดินแห่งนี้ มีตำนานพื้นบ้านเล่าขานสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นั่นคือ ตำนานพระพุทธมหาธรรมราชา วัดไตรภูมิ อันเป็นที่มาของประเพณี “อุ้มพระดำน้ำ”

ตำนานเล่าว่า เมื่อประมาณ 400 กว่าปีล่วงมาแล้ว คนหาปลากลุ่มหนึ่งกำลังหาปลาอยู่บริเวณ วังมะขามแฟบ ในแม่น้ำป่าสัก ได้พบเหตุอัศจรรย์ คือ อากาศที่สงบเงียบอยู่ดี ๆ กลับพลันแปรปรวน เกิดมีวังน้ำวนขึ้นในลำน้ำ หมุนวนเอาพระพุทธรูปสีทองอร่ามขึ้นมาแล้วดำผุดดำว่ายอยู่กลางลำน้ำ ชาวเมืองจึงร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิสิทธิ์องค์ดังกล่าวมาประดิษฐานไว้ที่วัดกลางเมือง คือวัดไตรภูมิ

ครั้นในปีถัดมา เมื่อวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งตรงกับวันสารทไทย องค์พระได้หายไปจากวัด ชาวเมืองช่วยกันหาทั้งเมืองก็ไม่พบ แต่กลับไปพบองค์พระไปดำผุดดำว่ายอยู่ ณ วังมะขามแฟบ อีกเช่นเดิม ครั้งนี้ชาวเมืองได้อัญเชิญองค์พระกลับมาวัดไตรภูมิอีกครั้ง และร่วมตกลงกันว่า ทุกวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี จะให้เจ้าเมืองอัญเชิญองค์พระไปดำน้ำ ที่วังมะขามแฟบแห่งเดิม เพื่อองค์พระจะไม่หนีไปเล่นน้ำอีก พร้อมทั้งร่วมกันขนานนามองค์พระศักดิสิทธิ์ว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ นับแต่บัดนั้นมา นอกจากนั้น ชาวบ้านที่ทำไร่ ทำนา ยังมีความเชื่อว่า เมื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำแล้วแล้ว ฟ้าฝนจะตกต้องตามฤดูกาล นำความอุดมสมบูรณ์มาสู่เมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งในสมัยก่อน การจัดงานก็จะจัดให้มีการสวดมนต์ “คาถาปลาช่อน” เพื่อเรียกฝนอีกด้วย
พระพุทธมหาธรรมราชา เป็นพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ปรางสมาธิ เนื้อทองสัมฤทธิ์ ไม่มีฐาน มีพุทธลักษณะแบบพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน พระกรรณยาวจรดพระอังสา ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ คือ ทรงเทริด สร้อยพระศอ พาหุรัด และรัดประคตที่มีลายงดงาม หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว
หากมองในด้านสังคมวิทยา อาจพิจารณาได้ว่า ประเพณีอุ้มพระดำน้ำของชาวเพชรบูรณ์ เป็นประเพณีเก่าแก่ และทรงคุณค่าที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะแฝงไปด้วยภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนท้องถิ่น ที่สำคัญคือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำป่าสัก เพราะเจ้าเมืองจะต้องลงไปดำน้ำในแม่น้ำ ฉะนั้น เจ้าเมืองจะปล่อยให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสียไม่ได้ และ เมื่อองค์พระศักดิ์สิทธิ์ลงไปในแม่น้ำแล้ว ชาวบ้านก็ถือว่าน้ำในแม่น้ำได้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ไปด้วย ทุกคนจึงต้องนบนอบ และไม่ลบหลู่ต่อแม่น้ำ นั่นคือต้องไม่ทำให้แม่น้ำสกปรก มิฉะนั้นจะเป็นบาป เท่ากับว่า ทั้งเจ้าเมืองและชาวบ้านต่างก็มีหน้าที่ที่จะต้องรักษาความสะอาดและคุณภาพของแม่น้ำป่าสัก

กิจกรรมอื่น ๆ ในประเพณีที่แสดงถึงภูมิปัญญาและสะท้องถึงวิถีชีวิตคนเพชรบูรณ์ในสมัยนั้นมีอยู่มากมาย เช่น การกำหนดให้เจ้าเมืองต้องแห่พระทางบก รอบเมืองก่อนทำพิธีดำน้ำ เพื่อให้เจ้าเมืองได้ลงเดินตรวจเมืองบ้านเรือนไปรอบเมือง เพื่อจะได้พบปัญหาสิ่งบกพร่องที่ควรสั่งการแก้ไข เหล่าบรรดาทหารลูกน้องก็จะต้องเก็บกวาดทำความสะอาดเส้นทางที่เจ้าเมืองจะผ่านไป เท่ากับเป็นการทำความสะอาดเมืองครั้งใหญ่กันปีละครั้ง ส่วนชาวบ้านก็ต้องร่วมกันเก็บกวาดบ้านเพื่อรับขบวนพระด้วย
นอกจากนั้น ในการดำน้ำ จะมีการดำเพียง 2 ทิศ คือ หันหน้าทวนน้ำ(ทิศเหนือ)และ หันหน้าตามน้ำ(ทิศใต้) ทิศละ 3 ครั้งเท่านั้น แสดงว่าชาวบ้านให้ความสำคัญกับแม่น้ำและปริมาณน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากินในชีวิตประจำวัน มากกว่าทิศตามดวงอาทิตย์

หลังจากเสร็จพิธีดำน้ำ ก็จะมีกิจกรรมที่แสดงให้เห็นการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคน เช่น การโยนข้าวต้มลูกโยนและอาหารให้กันระหว่างขบวนเรือของผู้ที่แห่ไปร่วมพิธี เป็นการสอนให้คนต้องมีการพึ่งพาและรู้จักแบ่งปันกัน การแข่งเรือทวนน้ำระหว่างหมู่บ้านต่าง ๆ ในลำน้ำ เป็นการฝึกการทำงานเป็นทีม รู้จักแบ่งหน้าที่กันทำและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ก็เช่นเดียวกับประเพณีไทยอื่น ๆ คือ มีการปรับเปลี่ยน ปรุงแต่งให้เข้ากับยุคสมัยและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ประเพณีอุ้มพระดำน้ำในปัจจุบันจึงมีการ ปรุงแต่งเพิ่มเติมพิธีกรรมและกิจกรรม เช่น มีการขยายเวลาและพื้นที่การจัดงานเพิ่มขึ้น มีการจัดขบวนแห่ทางบกในช่วงกลางคืน การจัดเทศกาลอาหารอร่อยเพชรบูรณ์ การแสดงตำนานประกอบแสง สี เสียง การจัดกิจกรรมทางวิชาการ การประกวดโต๊ะหมูบูชา การจัดมหรสพ ฯลฯ แต่ทั้งนี้ ในเนื้อหาสาระของพิธีกรรมที่แท้จริงนั้น ต้องคงรักษาเอาไว้ไม่ให้แปรเปลี่ยน และต้องสืบทอดให้เป็นประเพณีอันดีงามของแผ่นดินเพชรบูรณ์ไปตลอดกาลนาน..
คำสัมภาษณ์ นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์
“ในช่วง 10 ปี่ที่ผ่านมา ประเพณีอุ้มพระด้ำน้ำเพชรบูรณ์ ได้กลายเป็นโจษขานแก่ผู้คนทุกหมู่เหล่า จนก่อให้เกิดพลังแห่งความศรัทธาต่อประเพณีนี้และพระพุทธมหาธรรมราชา อย่างไรก็ตามเบื้องหลังของการทำให้ประเพณีนี้เข้าไปอยู่ในดวงใจของทุกคนได้นั้น ประกอบไปด้วยปัจจัยหลายๆด้าน โดยปัจจัยหนึ่งก็คือการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ที่พยายามเน้นและสื่อให้เห็นความสำคัญของประเพณีนี้”
“ส่วนรูปแบบของการประชาสัมพันธ์จุดนี้ถือเป็นพัฒนาการของการจัดงาน เพราะปกติเรามีประเพณีที่ทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์เป็นต้นทุนอยู่แล้ว ฉะนั้นการพัฒนาการใช้สื่อโดยมุ่งถึงการสื่อสารให้ผู้รับสารได้เข้าใจถึงจิตวิญญาณและคุณค่าของประเพณีนี้ ทำให้วันนี้ประเพณีอุ้มพระดำน้ำสามารถพูดได้ว่า เข้าไปอยู่ในแทรกอยู่จิตใจของชาวเพชรบูรณ์แทบทุกผู้คน ที่สำคัญทำให้เกิดความภาคภูมิใจร่วมกันและเกิดความสำนึกว่า ทุกคนต่างก็เป็นเจ้าภาพในการจัดงานนี้ขึ้น”
“สำหรับรูปแบบสื่อที่ใช้ประชาสัมพันธ์ที่มีการแตกเหง้าทางคิดออกไป ที่สำคัญมีความแตกต่างกันไปในทุกๆปี ยกตัวอย่างเช่น สื่อสิ่งพิมพ์ โดยในการออกแบบจัดทำทั้งโปสเตอร์และแผ่นพับโปรชัวร์ที่ผ่านมา เราไม่เพียงเน้นด้านความสวยงามเท่านั้น แต่ยังต้องเน้นถึงความหมายและความคิดรวบยอดของงานประเพณีในแต่ละปีนั้นด้วย อย่างปี 2548 เราใช้สีม่วงซึ่งเป็นสีแห่งปีวัฒนธรรมประเพณี และมีริ้วคลื่นอยู่ด้านล่างขององค์พระ ซึ่งหมายถึงความผูกพันระหว่างองค์พระกับแม่น้ำป่าสักที่เปรียบเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีภาพกิจกรรมที่สะท้อนถึงอดีตจวบถึงปัจจุบันอยู่ในตารางรังผึ้งข้างองค์พระอีกด้วย”
“ส่วนปี 2549 เราใช้สีส้มอิฐซึ่งหมายถึง ประเพณีอุ้มพระมีการสืบทอดกันมายาวนานหลายยุคสมัย และภาพเงาขององค์พระซ้อนกัน 4 ชั้น หมายถึงว่า 4 ยุคสมัยของพระพุทธรูปองค์ตั้งแต่พระองค์นี้ยังไม่ถูกค้นพบ ไปจนถึงการค้นพบและเริ่มปรากฏสู่ตาสายของคนทั่วไป ทำให้ธรรมะเข้าไปอยู่ในจิตใจของชาวเพชรบูรณ์ กระทั่งมีความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาธรรมมะ จนกลายเป็นศูนย์กลางจิตใจของชาวเพชรบูรณ์”
“และในปี 2550 เราใช้สีโทนดำมีภาพองค์พระสององค์เป็นพื้น โดยให้ความหมายว่า ในจิตใจของคนเรานั้นยังมีกิเลสและความมัวเมา ในขณะที่มีภาพองค์พระเป็นพื้นหากสังเกตุองค์หนึ่งสีจะออกดำทมึนและอีกองค์องค์สีจะขาวสว่าง ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ระหว่างทางโลกกับทางธรรมหรือด้านมืดกับด้านสว่างของคน”

“ส่วนตรงกลางจะมีพระพุทธมหาธรรมราชาอยู่ท่ามกลางฟองอากาศ โดยภายในมีรูปการประกอบพิธีกรรมในแต่ละช่วงยุคสมัยที่ผ่านมา ซึ่งให้ความหมายว่า ท่ามกลางจิตใจอันสับสนที่ยังมีกิเลส พระพุทธมหาธรรมราชาซึ่งเปรียบเสมือนธรรมะ จะเข้ามาขัดเกลาจิตใจผู้คนทำให้ดวงตาเห็นธรรม โดยมีประเพณีอุ้มพระดำน้ำช่วยจรรโลงและยึดโยงระหว่างธรรมะกับคนไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ เปรียบดั่งคำที่ว่ามีพระประจำเมือง เหมือนมีธรรมะประจำใจ ”
“ฉะนั้นหากเข้าใจและเข้าถึงเกร็ดต่างๆเหล่านี้ สื่อเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์และเป็นการสร้างองค์ความรู้ ให้แก่ชุมชนและเยาวชน จนทำให้การสืบสานประเพณีนี้ยังคงไหลไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนทีมงานที่ออกแบบนั้นก็เป็นอาสาสมัครที่รักและศรัทธาต่อประเพณีนี้รวมทั้งต่อองค์พระ เรียกว่าทำด้วยใจกันจริงๆ”

"จิตวิญญาณและศรัทธา" ของประเพณีอุ้มพระดำน้ำ
เมื่อกล่าวถึง “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” เพชรบูรณ์ ทุกคนย่อมนึกถึงตำนานมหัศจรรย์การพบพระพุทธรูป “พระพุทธมหาธรรมราชา” ที่คนหาปลาชื่อ หลวงตาด่อนกับเมีย ได้พบขณะทอดแหจับปลากลางแม่น้ำป่าสัก ท่ามกลางอิทธิปาฏิหาริย์และความเชื่อต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่ง พระพุทธรูปองค์นี้ได้กลายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวเพชรบูรณ์ และก่อกำเนิดเป็นประเพณีความเชื่อ ที่มีการสืบทอดกันมาหลายยุคสมัยกว่า 400 ปี โดยเจ้าเมืองในอดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ไปประกอบพิธีกรรมดำน้ำกลางแม่น้ำป่าสัก ณ วังมะขามแฟบ หรือ ท่าน้ำวัดดโบสถ์ชนะมาร อ.เมืองเพชรบูรณ์

คำกล่าวที่ว่า “มีพระประจำเมือง เหมือนมีธรรมะประจำใจ” ที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งประเพณีและพลังแห่งศรัทธา ได้กลายเป็นคติเตือนใจคนเพชรบูรณ์ให้น้อมนำเอาหลักธรรมะมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องดีงามมาโดยตลอด

จิตวิญญาณแห่งประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ที่แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญา และกุศโลบายอันชาญฉลาดของบรรพชน ที่กำหนดให้เจ้าเมืองต้องอัญเชิญองค์พระพุทธรูปแห่แหนไปรอบเมืองเพชรบูรณ์ และอัญเชิญแห่ทางน้ำไประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุก ๆ ปี มีนัยยะสำคัญหลายๆด้าน ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การสืบทอดและทำนุบำรุงพระศาสนา การรักษาดูแลสิ่งแวดล้อม การรักษาความมีระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการมุ่งเน้นสร้างความสามัคคีในหมู่ประชาชน ดังคำสั่งสอนสืบทอดกันมาของบรรพชนชาวเพชรบูรณ์ ดังนี้

ด้านการเมืองการปกครอง “ประเพณีนี้ใช้ศาสนาและพิธีกรรมมาเป็นศูนย์กลางและเป็นสิ่งจูงใจ เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันก่อให้เกิดความฮึกเหิมในการร่วมกันปกป้องดูแลรักษาบ้านเมืองยามที่บ้านเมืองมีเภทภัยสงครามเข้ามา”

ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม “ทำให้ราษฎรไพร่ฟ้า เกิดความตื่นตัวร่วมกันดูแลรักษาบ้านเมือง การที่เจ้าเมืองอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่แหนรอบเมืองทั้งทางบกและทางน้ำ ราษฎรต้องดูแลลบ้านเมืองให้มีระเบียบเรียบร้อย และต้องช่วยกันดูแลแม่น้ำป่าสักซึ่งเปรียบเสมือนสายเลือดใหญ่ที่หอล่อเลี้ยงชาวเพชรบูรณ์ เพื่อไม่ให้สกปรกจนเป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาด”

ด้านการสร้างการมีส่วนร่วม “ประเพณีนี้เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมที่ทุกคนอยากมาร่วมงาน โดยผู้ที่ร่วมงานนี้ต่างมาด้วยใจเพราะเชื่อว่า หลังการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ จะเกิดความสิริมงคลขึ้นในชีวิตและหน้าที่การงาน”

ด้านการสร้างความศรัทธา สืบทอด ทำนุบำรุงในพระศาสนา “ทุกคนต่างเชื่อว่า หลังจากประกอบพิธีแล้ว น้ำในเมื่อน้ำป่าสักจะกลายเป็นน้ำพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์และจะพากันตักใส่ภาชนะชนะที่จัดเตรียมมานำกลับบ้านไปไว้เพื่อเป็นสิริมงคล ในขณะที่ข้าวของเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นสังเวยในพิธีกรรมก็จะถูกประชาชนที่มาร่วมพิธีกรรมนำกลับไปจนหมดเกลี้ยง สิ่งเหล่านี้หมายถึงความศรัทธาที่เปี่ยมล้นต่อพิธีกรรมและองค์พระพุทธมหาธรรมราชา”

ด้านการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนเพชรบูรณ์ “แม้บางช่วงบ้านเมืองเกิดภาวะวิกฤต อาจจะทำให้ผู้นำหรือผู้คนให้ความสำคัญกับประเพณีนี้น้อยไปบ้างก็ตาม แต่ท้ายที่สุดศรัทธาแห่งประเพณีอุ้มพระดำน้ำและบารมีของพระพุทธมหาธรรมราชา ยังทำให้ภาพของพระพุทธรูปปคู่บ้านคู่เมือง อีกทั้งพิธีกรรมแห่งความเชื่อและศรัทธา กลับเข้ามาอยู่ในดวงใจของชาวเพชรบูรณ์ทุกคน”
แม่น้ำป่าสัก สายน้ำแห่งชีวิตของคนเพชรบูรณ์
“การพัฒนาที่ยั่งยืน คือการพัฒนาต่อยอดจากรากเหง้าและตัวตนที่แท้จริง....” จากปรัชญาการพัฒนานี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่คนเพชรบูรณ์จะต้องร่วมกันเรียนรู้ อนุรักษ์ เผยแพร่ ให้เข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของคนเพชรบูรณ์ทุกรุ่น ทุกสมัยและตลอดไป


“แม่น้ำป่าสัก” เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเมืองเพชรบูรณ์มาแต่โบราณกาล แม่น้ำป่าสักช่วงที่ผ่านเพชรบูรณ์มีลักษณะเฉพาะ คือเป็นช่วงต้นน้ำที่แคบ น้ำไหลเชี่ยว ขึ้นเร็วลงเร็ว หน้าน้ำจะไหลบ่าล้นตลิ่งไปเป็นวงกว้าง หน้าแล้งน้ำจะแห้งขอด แต่คนเพชรบูรณ์ก็ได้มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับแม่น้ำป่าสักมาโดยตลอด เห็นได้จาก การปลูกเรือนใต้ถุนสูง การมีเรือประจำบ้าน การไม่ปลูกสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ การหาปลาในแม่น้ำป่าสักที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนที่อื่น การทำเกษตรที่ต้องสอดคล้องกับปริมาณน้ำในแม่น้ำ การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับแม่น้ำป่าสักอย่างมีความสุขและไม่มีปัญหา ...... แต่สิ่งเหล่านี้ กำลังถูกหลงลืมไป
ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ เป็นประเพณีท้องถิ่นที่แสดงถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีทั้งพิธีกรรมที่เรียกขวัญกำลังใจในการทำมาหากิน ภูมิปัญญาในด้านการปกครองในการรักษาคุณภาพแม่น้ำป่าสัก และภูมิปัญญาในการสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสำนึกของคนให้มีจุดรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ประเพณีอุ้มพระดำน้ำจึงเป็นประเพณีอันทรงคุณค่ายิ่งสำหรับคนเพชรบูรณ์ที่จะได้เรียนรู้ตัวตนของตัวเองผ่านแนวทางที่บรรพบุรุษได้ปลูกฝังไว้ และรอให้คนเพชรบูรณ์ได้ร่วมกันตระหนักในประเพณีอันทรงคุณค่าและร่วมกันสืบสานต่อไปถึงอนุชนรุ่นหลังและให้คงอยู่คู่แผ่นดินอันศักดิสิทธิ์และสงบร่มเย็นแห่งนี้ อันจะได้นำไปสู่การพัฒนาเมืองเพชรบูรณ์ที่ยั่งยืนตลอดไป

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ แต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า งานสารทไทย งานอาบน้ำพระ งานแข่งเรือวัดไตรภูมิ แต่ต่อมาได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อุ้มพระดำน้ำ”
ตำนานเล่าว่า เมื่อสมัยกลางกรุงศรีอยุธยาฯ ประมาณ 400 กว่าปีที่แล้ว ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 กลุ่มคนหาปลาได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสักตามปกติ แต่ในวันนั้น ตั้งแต่เช้าไม่มีใครหว่านแหได้ปลาแม้แต่ตัวเดียว ระหว่างนั่งพักปรับทุกข์กันอยู่ที่คุ้งน้ำวังมะขามแฟบ ก็ปรากฏสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น เกิดลมพัดกระชักรุนแรง ฟ้าร้องคามมืดครึ้ม แล้วปรากฏมีพระพุทธรูปสีเหลืองอร่ามดำผุดดำว่ายอยู่ท่ามกลางลำน้ำที่หมุนวน ชาวบ้านเห็นเป็นพระพุทธรูปศักดิสิทธิ์จึงร่วมกันอัญเชิญมามอบให้เจ้าเมือง แล้วประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ครั้นปีต่อมาเมื่อวันสารทไทย องค์พระกลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวเมืองได้ร่วมกันค้นหาทั้งเมืองก็ไม่พบ แต่กลับไปพบองค์พระดำผุดดำว่ายอยู่กลางแม่น้ำ ณ ที่เดิมคือวังมะขามแฟบ หลังจากอัญเชิญองค์พระกลับขึ้นมาใหม่ ชาวเมืองเพชรบูรณ์จึงได้พร้อมใจตกลงร่วมกันว่า ต่อไปจะให้เจ้าเมืองอัญเชิญองค์พระกลับไปทำพิธีดำน้ำ ณ จุดดังกล่าวในวันสารทไทยแรม 15 ค่ำเดือน 10 ทุก ๆ ปีจนเป็นประเพณีคู่บ้านคู่เมืองนับแต่นั้นมา

"พระพุทธมหาธรรมราชา" เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี(ขอม) หล่อด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน มีพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระเศียรทรงชฎาเทริดหรือมีกระบังหน้า ทรงสร้อยพระศอ พาหุรัด และประคต มีลวดลายงดงามอีกทั้งแลดูน่าเกรงขามอย่างยิ่ง ส่วนประวัติการสร้างนั้นไม่ปรากฏเด่นชัด แต่ชาวเพชรบูรณ์มีความเชื่อตามตำนานว่า พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (อ.หล่มสัก) ได้รับพระราชทานจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์แห่งนครธม ให้นำไปประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง พร้อมทั้งให้ทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาคือพระนางสิงขรมหาเทวี แต่หลังจากพ่อขุนผาเมืองร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง (อ.นครไทย) พระสหาย กอบกู้อิสรภาพให้กับคนไทย ทำให้พระนางสิงขรมหาเทวี แค้นเคืองถึงกับเผาเมืองราดจนย่อยยับ จากนั้นตัดสินใจกระโดดแม่น้ำป่าสักฆ่าตัวตาย ทำให้ไพร่พลเสนาอำมาตย์ ต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงแพล่องไปตามแม่น้ำป่าสักเพื่อหลบหนีไฟ แต่ปรากฏว่าแม่น้ำป่าสักมีความคดเคี้ยว และกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ทำให้แพที่อัญเชิญองค์พระมานั้นแตก จนองค์พระจมดิ่งลงสู้ก้นแม่น้ำหายไป กระทั่งต่อมาคนหาปลาได้ไปพบ จนก่อให้เกิดตำนานมหัศจรรย์และ "ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ" ขึ้น
การจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ประกอบด้วยพิธีบวงสรวงเทพยาดาฟ้าดินที่ปกปักรักษาคุ้มครองเมืองเพชรบูรณ์ ขบวนแห่องค์พระรอบเมือง ขบวนแห่องค์พระไปดำน้ำในแม่น้ำป่าสัก และพิธีกรรมเจ้าเมืองอุ้มองค์พระดำน้ำโดยหันหน้าทวนน้ำ 3 ครั้งและหันหน้าตามน้ำ 3 ครั้ง พร้อมทั้งอธิฐานให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีและบ้านเมืองมีความสงบร่มเย็นและเจริญรุ่งเรือง หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะมีการเฉลิมฉลองและแข่งขันพายเรือทวนน้ำกันอย่างสนุกสนาน
ปัจจุบันนี้ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำของเพชรบูรณ์ เป็นแบบอย่างของการจัดงานประเพณีท้องถิ่นที่เกิดจากจิตใจที่เปี่ยมล้นด้วยความศรัทธาและความร่วมแรงร่วมใจอย่างแท้จริงของชาวเพชรบูรณ์ทุกหมู่เหล่า ทั้งนี้ โดยไม่ลืมจิตวิญญาณของประเพณีฯ ที่แสดงถึงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาโดยพิธีกรรมผ่านองค์พระ และสร้างจิตสำนึกให้น้อมนำเอาธรรมะของพระพุทธองค์มาไว้เป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิต สมกับคำกล่าวที่ว่า “แสงศรัทธาส่ององค์พระ แสงธรรมะส่องจิตใจ” นั่นเอง

พิธีอุ้มพระดำน้ำ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนายเกษม ชัยสิทธิ์ 1 ต.ค.2539 - 30 ก.ย.2541


พิธีอุ้มพระดำน้ำ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนายนิคม บูรณพันธุ์ศรี 1 ต.ค.2542 - 30 ก.ย.2545
พิธีอุ้มพระดำน้ำ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนายดิเรก ถึงฝั่ง 1 ต.ค.2545 - 4 มี.ค. 2549
พิธีอุ้มพระดำน้ำ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนายต่อพงษ์ อ่ำพันธุ์ 5 มิ.ย. 2549 - 16 ต.ค. 2551
พิธีอุ้มพระดำน้ำ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนายกองเอก วิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ 20 ต.ค. 2551 - 30 ก.ย. 2552